Failed to fetch the content. 1. ข้อมูลสถานศึกษา – วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่

ข้อมูลสถานศึกษา

  • ปี พ.ศ. 2513 นายวิเวก ปางพุฒิพงศ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมอาชีพ กรอาชีวศึกษา ได้ส่งตัวนายอมร  สุริยะจันทร์ ให้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ พร้อมด้วย นายประเพชร บุญวรรณ นางขวัญตา กุลวนาโรจน์ นางสมพร  คงสกุล และนางพรพิมล  จิตยาภาตุ มาปฏิบัติราชการที่โรงเรียนฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่ 32 จังหวัดเชียงใหม่ ในขณะนั้นโรงเรียนฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่ 32 ยังไม่มีสถานที่ทำการเป็ของตนเองอย่างถาวร จึงได้ทำการเช่าตึกแถว 2 ชั้น อยู่ติดกับวัดผ้าขาว ถนนราชมรรคาและศาลาการเปรียญของวัดช่างแต้ม ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่ทำการเปิดสอนหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น 300 ชั่วโมง (5 เดือน) มีประชาชนทั่วไปสนใจสมัครเข้าเรียนเป็นจำนวนมาก ทางโรงเรียนไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนเหล่านั้นได้อย่างทั่วถึงเนื่องจากสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย
  • ปี พ.ศ. 2514 คณะผู้บริหารและครู – อาจารย์ ในตอนนั้นมีเพียงไม่กี่คน จึงได้เข้ากราบนมัสการท่านพระครูศรีปริยัติยานุรักษ์ เจ้าอาวาสวัดพันอ้น ถนนราชดำเนิน ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ในตอนนั้น เพื่อขอความอนุเคราะห์ใช้อาคารเรียนพระปริยัติธรรมใต้ถุนกุฏิ และศาลาการเปรียญของวัดพันอ้น เป็นสถานที่ทำการของโรงเรียน เนื่องจากมีบริเวณกว้างขวางกว่าที่เดิม คงจะตอบสนองความต้องการของประชาชนที่สนใจสมัครเข้าเรียนวิชาชีพได้อย่างทั่วถึงในระดับหนึ่ง ซึ่งท่านเจ้าอาวาสวัดพันอ้นก็ได้เล็งเห็นความสำคัญทางการอาชีพเป็นอย่างมาก จึงได้การสนับสนุนและอนุญาตให้ใช้สถานที่ของวัดพันอ้น เป็นสถานที่ทำการของโรงเรียนฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่ 32 เชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514  เป็นต้นมา
  • ปี พ.ศ. 2515 การปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการใหม่ โรงเรียนฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่ทั่วประเทศได้ถูกโอนจากกองส่งเสริมอาชีพ กรมอาชีวศึกษา ได้สังกัดกองการศึกษาผู้ใหญ่กรมสามัญศึกษา ซึ่งปัจจุบันกองการศึกษาผู้ใหญ่ ได้ยกฐานะขึ้นเป็นกรมการศึกษานอกโรงเรียน แต่โรงเรียนฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่ 32 เชียงใหม่ และโรงเรียนฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่ตั้งอยู่ในจังหวัดใหญ่ ๆ อีกไม่กี่โรงเท่านั้นที่กรมอาชีวศึกษาได้ขอสงวนเอาไว้สังกัดกรมอาชีวศึกษาตามเดิม ต่อมาได้ประกาศเปลี่ยนชื่อโรงเรียนฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่ 32 เชียงใหม่ ก็เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนสารพัดช่างเชียงใหม่ มีประชาชนสนใจสมัครเข้าเรียนวิชาชีพเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ แต่ทางโรงเรียนก็ไม่สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนได้อีกเช่นเคย
  • ปี พ.ศ. 2517 โรงเรียนสารพัดช่างเชียงใหม่ โดยการนำของว่าที่ร้อยตรี ชิตวีร์  บุญนาค
    และนายสุทิน พงษ์อำไพ ได้ปรึกษาหารือกับท่านเจ้าอาวาสวัดพันอ้น เพื่อจัดหาที่ดินที่จะใช้เป็นที่ทำการโรงเรียนอย่างถาวร โดยได้ติดต่อกับทางจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ และหน่วยงานอื่น ๆ อีกหลายแห่ง ตลอดจนนักสังคมสงเคราะห์หลายท่าน จนกระทั่งได้ทราบว่ามีที่ดินแห่งหนึ่งอยู่ติดกับถนนห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 54 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์วัดสีสุก (ร้าง) ขณะนั้นเป็นที่ทำการของมูลนิธิเด็กปัญญาอ่อนภาคเหนือ ซึ่งมีนายแพทย์มนู  แมนมนตรี เป็นประธานมูลนิธิฯ และได้ตกลงและยินยอมที่จะย้ายที่ทำการของมูลนิธิฯ ออกไปยังสถานที่แห่งใหม่ และให้ทางโรงเรียนสารพัดช่างเชียงใหม่โดยกรมอาชีวศึกษาขอเช่าที่ดินฝืนนี้ ต่อกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อใช้เป็นที่ทำการถาวรของโรงเรียนต่อไป 
  • ปี พ.ศ. 2518 – 2521 กรมอาชีวศึกษาได้จัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารโรงฝึกงานชั้นเดียว จำนวน 1 หลัง บ้านพักครู 2 ชั้น จำนวน 4 หลัง บ้านพักอาจารย์ใหญ่ 2 ชั้น จำนวน 1 หลัง อาคารเรียนชั่วคราวชั้นเดียว จำนวน 1 หลัง ห้องสุขาชาย จำนวน 1 หลัง ห้องสุขาหญิง จำนวน 1 หลัง และได้รับบริจาคอาคารธุรการชั้นเดียว จากนายทองทรายบุรี จำนวน 1 หลัง พร้อมทั้งได้ดำเนินการจัดสร้างเสาธงด้วยเงินบำรุงการศึกษาของโรงเรียน
  • ปี พ.ศ. 2521 เมื่อก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วนั้น จึงได้ย้ายที่ทำการของโรงเรียนจากบริเวรวัดพันอ้น ไปยังที่ทำการแห่งใหม่ ณ เลขที่ 49 หมู่ที่ 5 ถนนห้วยแก้ว ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันนี้
  • ปี พ.ศ. 2522 ได้รับงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารเรียนถาวร 3 ชั้น จำนวน 1 หลัง
  • ปี พ.ศ. 2524 – 2526 ได้รับงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารเรียนถาวร 5 ชั้น จำนวน 1 หลัง  รั้วด้านหน้าโรงเรียน และบ้านพักภารโรง 1 หน่วย 2 ครอบครัว จำนวน 1 หลัง และเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรช่างฝีมือ (ปชม.) เมื่อปีการศึกษา 2526
  • ปี พ.ศ. 2529 ได้รับงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารเรียนถาวร 4 ชั้น จำนวน 1 หลังปี พ.ศ. 2534 ได้รับงบประมาณเพื่อก่อสร้างบ้านพักครูแบบแฟลต 14 หน่วย 4 ชั้น จำนวน 1 หลัง และกระทรวงศึกษาธิการได้ ประกาศปรับปรุงเปลี่ยนชื่อโรงเรียนสารพัดช่างเชียงใหม่ เป็นวิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2534 เป็นต้นมา 
  • ปี พ.ศ. 2536 วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ พิจารณาเห็นว่าสถานที่ทำการของวิทยาลัยที่ถนนห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีความคับแคบลงทุกขณะ และจังหวัดเชียงใหม่ มีอัตราการเจริญเติบโตของชุมชนเมือง การบริการทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วทำให้ประชาชนมีความต้องการทางด้านการศึกษาเพิ่มมากขึ้น การศึกษาที่จะสนองต่อความต้องการของสังคมเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ ก็คือการศึกษาทางด้านวิชาชีพ วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ จึงได้มีโครงการที่จะขยายสาขาของวิทยาลัยออกไปที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2536 กรมอาชีวศึกษา ได้พิจารณาอนุมัติในหลักการให้วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ ขยายสาขาไปที่อำเภอสารภี โดยกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ได้อนุญาตให้ใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ของสภาตำบลหนองผึ้ง (โรงเรียนวัดป่าแคโยง) หมู่ที่ 5 ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 64 ตารางวา เป็นที่ทำการของวิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ สาขาสารภี
  • ปี พ.ศ. 2537 วิทยาลัยได้รับงบประมาณเพื่อก่อสร้างบ้านพักภารโรงแบบแฟลต 14 หน่วย 4 ชั้น จำนวน 1 หลัง และอาคารโรงฝึกงาน 3 ชั้น (สาขาสารภี) จำนวน 1 หลัง และเปิดทำการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เป็นปีแรก
  • ปี พ.ศ. 2538 – 2539 วิทยาลัยได้รับงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารเรียนและปฏิบัติการ 6 ชั้น จำนวน 1 หลัง และอาคารโรงฝึกงาน 3 ชั้น (สาขาสารภี) จำนวน 1 หลัง
  • ปี พ.ศ. 2548 ได้ทำความร่วมมือกับวัดตอนจั่นเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้อีก ๑ แห่ง วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ ศูนย์การเรียนรู้วัดดอนจั่น ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดดอนจั่น ตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ๕ (เจ้าอาวาสวัดดอนจั่นซื้อ ท่านเจ้าคุณพระประชานาถมุนี) อนึ่งรายการสิ่งปลูกสร้างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น บางรายได้ทำการรื้อถอนแล้ว และทำการปลูกสร้างขึ้นมาทดแทนใหม่ ตามที่ได้รับงบประมาณ ทั้งนี้ก็เพื่อความเหมาะสมทางด้านการบริหารงาน และการพัฒนาอาคารสถานที่ ที่มีผลต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตลอดจนสนองความต้องการของประชาชนที่สนใจเรียนวิชาชีพได้อย่างทั่วถึง